กรมการศาสนาเขิญชวนพุทธศาสนิกชนร่วมทอดกฐิน สืบสานรักษาประเพณีอันดีงามของไทย...
นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา (อศน.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ใกล้เข้าสู่ช่วงเทศกาลทอดกฐิน ประจำปีพุทธศักราช 2566 ในปีนี้ ตรงกับวันที่ 30 ตุลาคม ถึงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 การทอดกฐินเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมายาวนานในประเทศไทย ในช่วงเทศกาลกฐินกาล ซึ่งมีช่วงเวลาจำกัดเพียงปีละ 1 เดือน คือระหว่าง แรม 1 ค่ำเดือน 11 ถึง ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เท่านั้น พุทธศาสนิกชนชาวไทยนิยมทำกันมาก ถือว่าได้อานิสงส์แรง เพราะทำในเวลาจำกัด และต้องการทำการจองกฐินก่อน เพราะ 1 วัดจะรับได้เพียงกฐินเดียวเท่านั้น การทอดกฐินมีจุดประสงค์หลักเป็นการสงเคราะห์พระภิกษุที่จำพรรษาครบถ้วนไตรมาสและมีจีวรที่เก่าคร่ำคร่า การทอดกฐินเป็นการปฏิบัติตามพุทธบัญญัติที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระภิกษุรับผ้ากฐินได้ และเป็นการสืบต่อประเพณีการทอดกฐินสืบทอดกันมาอย่างยาวนานของชาวพุทธไทย จึงเป็นการสืบสานประเพณีอันดีงามของไทยให้คงอยู่ต่อไป
อธิบดีกรมการศาสนา (อศน.) กล่าวต่อไปว่า ในปีนี้ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา ได้เปิดโอกาสให้กระทรวง กรม หน่วยงานองค์กร คณะบุคคลและเอกชนที่มีความประสงค์ขอรับพระกฐินพระราชทาน ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 293 พระอาราม ซึ่งกระทรวง กรม หน่วยงานองค์กร คณะบุคคลและเอกชน จะต้องยื่นความจำนงขอพระราชทานมายังกรมการศาสนา เมื่อใกล้ถึงกำหนดกฐินกาล กรมการศาสนาจะได้แจ้งให้ผู้ยื่นความจำนงขอพระราชทาน เข้ามารับผ้าพระกฐินพร้อมด้วยเครื่องบริวารพระกฐินเบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ ณ กรมการศาสนา เพื่อนำไปทอดถวาย ณ พระอารามที่ขอรับพระราชทานไว้ เมื่อทอดถวายเรียบร้อยแล้ว ผู้ขอรับพระราชทานจะต้องจัดทำบัญชีรายงานถวายพระราชกุศล พร้อมภาพถ่ายในพิธีนำส่งกรมการศาสนา เพื่อรวบรวมจัดทำหนังสือสรุปการดำเนินงานพระกฐินและพระกฐินพระราชทาน นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทในโอกาสอันควร อันจะเป็นเกียรติประวัติแก่ผู้ขอรับพระราชทาน
อธิบดีกรมการศาสนา (อศน.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบัน การทอดกฐินแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลักๆ คือ
1) กฐินหลวงหรือพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินด้วยพระองค์เอง หรือทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้พระบรมวงศานุวงศ์ ราชสกุล องคมนตรี หรือผู้ที่ทรงพระราชดำริเห็นสมควรให้นำไปถวายพระอารามสำคัญ 18 พระอาราม โดยสำนักพระราชวัง เป็นผู้ออกหมายกำหนดการ ประมาณเดือนพฤศจิกายน 2566
2) พระกฐินพระราชทาน เป็นผ้าพระกฐินพร้อมด้วยเครื่องบริวารพระกฐินซึ่งเป็นของหลวง แต่เปิดโอกาสให้กระทรวง กรม หน่วยงานองค์กร คณะบุคคลและเอกชนที่มีความประสงค์ขอรับพระราชทาน อัญเชิญไปถวายยังพระอารามหลวงต่าง ๆ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา จัดหาผ้าพระกฐินพร้อมด้วยเครื่องบริวารพระกฐิน ปัจจุบันมีจำนวน 293 พระอาราม
3) กฐินทั่วไป หรือที่เรียกว่า “กฐินราษฎร์” เป็นการถวายผ้ากฐินที่พุทธศาสนิกชนทั่วไป มีความประสงค์จะนำไปถวายแด่พระสงฆ์ที่จำพรรษาถ้วนไตรมาส ณ วัดใดวัดหนึ่งที่เป็นวัดราษฎร์ (ไม่ใช่พระอารามหลวง)
อธิบดีกรมการศาสนา (อศน.) กล่าวทิ้งท้ายว่า การทอดกฐินเป็นบุญกุศลที่ยิ่งใหญ่ ผู้ที่มีโอกาสทอดกฐินควรตั้งใจถวายด้วยจิตศรัทธา เชื่อกันว่าจะทำให้ผู้ทอดกฐินได้รับความสุขความเจริญในชีวิต ทั้งในด้านความเป็นอยู่ หน้าที่การงาน และชีวิตความเป็นอยู่ จึงขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนร่วมสืบสานประเพณีอันดีงามสืบทอดกันมายาวนานของไทย ด้วยการทอดกฐิน ณ วัดทั่วประเทศ เพื่อสืบสานรักษาประเพณีอันดีงามของไทยถวายเป็นพุทธบูชา และร่วมส่งเสริมบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญสืบไป\\\
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น