วธ.เสริมพลังSoft Powerด้วยเสน่ห์แห่งสีสัน เทศกาลแห่งศรัทธา ในเทศกาลแห่งการเฉลิมฉลองครบรอบ 554 ปี "พระปฐมบรมศาสดาศาสนาซิกข์"...
วธ. เสริมพลัง Soft Power ด้วยเสน่ห์แห่งสีสัน เทศกาลแห่งศรัทธา ในเทศกาลแห่งการเฉลิมฉลองครบรอบ 554 ปี “พระปฐมบรมศาสดาศาสนาซิกข์”
นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา ร่วมกับองค์การเครือข่ายทั้ง 5 ศาสนา ดำเนินนโยบายขับเคลื่อน Soft Power ในมิติศาสนา จัดโครงการ “เสน่ห์แห่งสีสัน เทศกาลแห่งศรัทธา” โดยร่วมกับองค์การทางศาสนาซิกข์ คือ สมาคมศรีคุรุสิงห์สภา จัดพิธีเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสครบรอบปีที่ 554 วันคล้ายวันประสูติ พระศาสดาศรีคุรุนานักเทพ พระปฐมบรมศาสดา ระหว่างวันที่ 24-27 พฤศจิกายน 2566 ณ คุรุดวาราศรีคุรุสิงห์สภา เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร การจัดงานเฉลิมฉลองในปีนี้ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ของทุกปีตามปฏิทินจันทรคติ และตามประกาศอย่างเป็นทางการจากประเทศอินเดีย ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน 2566 จึงนับเป็นวันที่สำคัญยิ่ง เนื่องจากครบรอบ 554 ปี แห่งการก่อตั้งศาสนาซิกข์ ชาวซิกข์ทั่วโลกจะจัดให้มีพิธีเฉลิมฉลอง เพื่อน้อมรำลึกถึงพระเมตตาของพระศาสดา ที่ได้โปรดอบรมสั่งสอนให้ศาสนิกชนเดินเจริญรอยตามหลักความเป็นจริงอย่างเคร่งครัด โดยเน้นให้ครองตนในเพศคฤหัสถ์ แต่อบรมใจให้เป็นบรรพชิต ประพฤติและปฏิบัติตามความชอบธรรมอย่างเสมอภาค โดยไม่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของความเป็นมนุษย์ พระองค์ทรงมอบหลักการครองตนด้วยปรัชญาที่ว่า “ตั้งจิตภาวนา ทำมาหากินสุจริต ผลผลิตแบ่งปัน” ซึ่งคำสั่งสอนของพระองค์ถูกสืบทอดมาจวบจนทุกวันนี้
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) กล่าวต่อว่า วันประสูติของพระศาสดาศรีคุรุนานักเทพ ถือเป็นประเพณีทางศาสนาซิกข์ที่จะทำพิธีอย่างยิ่งใหญ่ที่สุด เริ่มตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 เวลา 18.00 น. หรือ 60 ชั่วโมง ก่อนถึงวันเฉลิมฉลองวันคล้ายวันประสูติองค์ปฐมบรมศาสดา โดยมีพิธีกรรมสำคัญคือ การแห่อัญเชิญพระศาสดานิรันดร์กาล “พระมหาคัมภีร์คุรุครันถ์สาหิบ” จำนวน 5 รูป (เล่ม) ในศาสนสถาน มาประดิษฐานบนอาสนะที่ได้เตรียมการไว้โดยเฉพาะอย่างสมพระเกียรติ จากนั้นศาสนิกชนจะร่วมใจประกอบพิธีอคันด์ ปาธ หรือการสวดเจริญธรรมจากพระมหาคัมภีร์คุรุครันถ์สาหิบ อย่างต่อเนื่องจนสมบูรณ์ ไม่มีการหยุดพัก ด้วยศรัทธาอันแรงกล้าตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน โดยการสวดจะสิ้นสุดลงในช่วงเช้าวันที่ 27 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันคล้ายวันประสูติองค์ปฐมบรมศาสดา แล้วจึงแห่อัญเชิญพระศาสดานิรันดร์กาลกลับยังที่ประทับ ในปีนี้กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา ได้รับเชิญร่วมในพิธีการสำคัญนี้ และได้รับเกียรติในการกล่าวร่วมแสดงความยินดีแก่ศาสนิกชนชาวซิกข์ในวาระครบรอบ 554 ปี พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการองค์ความรู้ทางศาสนาซิกข์ ในเรื่องประวัติพระปฐมศาสดา และสัญลักษณ์ 5ก ของชาวซิกข์ที่ต้องมีติดตัวตลอดเวลา อันได้แก่ การ่า คือ กำไลเหล็ก กาช่า คือ กางเกงชั้นใน เกศา คือ การไว้ผมยาว กังฆะ คือ หวีปักผม กริปาน คือ กริช นอกจากนี้ชาวซิกข์เชื่อว่าการทำบุญสูงที่สุดของชาวซิกข์ คือ การแบ่งปันเพื่อผู้อื่นที่ขาดแคลนและเพื่อสังคมที่ถูกลิดรอนโอกาส ฉะนั้นการแบ่งปันจึงเป็นการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่โอกาสยังไม่อำนวย นับเป็นศาสนวินัยและเป็นศาสนบัญญัติเพื่อจรรโลงไว้ซึ่งสังคม ไม่ใช่ศาสนา โดยในงานนี้จะมีการเปิดให้บริการคลินิกผู้ยากไร้ “นานักมิชชั่น สุขศาลา” สำหรับให้บริการด้านสุขภาพแก่บุคคลทั่วไปโดยไม่จำกัดเชื้อชาติ ศาสนา ในบริเวณด้านหน้าศาสนสถานอีกด้วย
ทั้งนี้ การที่กระทรวงวัฒนธรรมได้ร่วมสนับสนุนประเพณีทางศาสนา ผ่านโครงการเสน่ห์แห่งสีสัน เทศกาลแห่งศรัทธา ภายใต้การจัดกิจกรรมเทศกาลของศาสนาซิกข์ ก่อให้เกิดการอนุรักษ์ ส่งเสริมวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมอันดีงาม ศาสนิกชนทุกศาสนาได้รู้จักวัฒนธรรมของชาวไทยเชื้อสายอินเดีย เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง เสริมสร้างแนวคิดการอยู่ร่วมกัน การให้เกียรติกันในสังคมพหุวัฒนธรรม โดยให้ผู้นำศาสนานำองค์ความรู้ทางศาสนาที่ถูกต้อง มาเผยแพร่ให้ความรู้แก่บุคคลทั่วไป ผ่านเทศกาลประเพณีที่สำคัญในรูปแบบของ Soft Power ด้านเทศกาล ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลเกี่ยวกับ Soft Power รวมทั้งเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีของชาวไทยเชื้อสายอินเดีย เกิดความเข้าใจอันดีทางศาสนาอันจะนำไปสู่การเกิดความรัก ความสามัคคีในสังคมไทย ทั้งยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและเทศกาลในมิติทางศาสนา นำมาสู่การเสริมสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการในการขายสินค้าและบริการต่าง ๆ ในพื้นที่โดยรอบ อาทิ ร้านอาหารอินเดียต้นตำรับดั้งเดิม ขนมท้องถิ่น ที่พัก โรงแรม โฮสเทล รวมไปถึงร้านขายของที่ระลึก เป็นต้น ซึ่งสามารถสร้างรายได้แก่ชุมชนที่เกี่ยวข้องกับการจัดเทศกาลได้อย่างยั่งยืน
กรมการศาสนาได้ขับเคลื่อนโครงการ “เสน่ห์แห่งสีสัน เทศกาลแห่งศรัทธา” อย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาร่วมจัดกิจกรรม “เทศกาลนวราตรี” และ “เทศกาลดิวาลี” ของศาสนาศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู และยังได้เตรียมการจัดงาน “เทศกาลแห่ดาวคริสต์มาส” ของศาสนาคริสต์ ณ จังหวัดสกลนคร งาน “เสน่ห์วันวาน เทศกาลงานวัด” ของศาสนาพุทธ ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กรุงเทพมหานคร และงาน “วันอาซูรอสัมพันธ์” ของศาสนาอิสลาม ณ จังหวัดนราธิวาส เพื่อส่งเสริมเทศกาลประเพณีด้านศาสนาและวัฒนธรรม ให้เป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยว และเสริมสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทยให้มั่นคงสืบไป
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น