พ่อเมืองสามหมอกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาการท่องเที่ยวอำเภอปาย...
วันจันทร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 14.00 น. ณ ห้องประชุมประดิษฐ์จองคำ ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดแม่ฮ่องสอน
นายเอกวิทย์ มีเพียร ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้จัดประชุมและเป็นประธานการประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่อำเภอปาย ซึ่งมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศ จำนวนมาก โดยที่ผ่านมามีกรณีที่มีผู้ร้องเรียน และได้ถูกนำเสนอเป็นข่าวในโซเชียลมีเดียและเพจข่าวต่าง ๆ จากกรณีที่อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน พบปัญหาเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ตลอดจนเกิดข้อวิพากษ์ในสังคมว่าอาจเกิดการแย่งอาชีพของคนไทย รวมทั้งปัญหาต่าง ๆ นั้น
นายเอกวิทย์ มีเพียร ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้ทราบประเด็นปัญหาจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นระยะ และสืบเนื่องจากที่ผ่านมามีภารกิจจำนวนมาก โดยการประชุมในครั้งนี้นับเป็นโอกาสดีที่จะได้นำประเด็นปัญหามาหารือร่วมกันในการวางแนวทางมาตรการการแก้ไขปัญหาเพื่อให้เกิดความยั่งยืนของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ทั้งในมิติของสังคมวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และด้านเศรษฐกิจ ให้มีความต่อเนื่องและเกิดความสมดุล เนื่องจากจังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดเมืองน่าเที่ยว (เมืองรอง) ที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวจำนวนมากกว่าหนึ่งล้านคนในแต่ละปี และมีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีนักท่องเที่ยวผู้เยี่ยมเยือนมากกว่าจำนวนประชากร 3-4 เท่า สามารถสร้างรายได้จากภาคบริการคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 60 % ของรายได้ประชากร หรือมีรายได้จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวประมาณ 7.5 พันล้านบาท ในปี 2567 และมีสัดส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติประมาณ 35-40 % ดังนั้น จึงมีผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ ซึ่งทางจังหวัดแม่ฮ่องสอนไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยได้มีการมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในการประชุมนี้จะเป็นการรวบรวมประเด็นปัญหา พร้อมกำหนดแนวทางแก้ไข ตลอดจนมาตรการที่เป็นธรรมต่อผู้มีส่วนได้เสียในอุตสาหกรรม
1. นายเอกวิทย์ มีเพียร ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน
2. นายผะอบ บินสะอาด ปลัดจังหวัดแม่ฮ่องสอน
3. พ.อ. ภูมิรัชต์ ดุษฎี รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดแม่ฮ่องสอน (ฝ่ายทหาร) ปฏิบัติราชการแทนผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดแม่ฮ่องสอน
4. พ.ต.อ. ทรงกริช ออนตะไคร้ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดแม่ฮ่องสอน
5. ร.ท. ยุทธนา ภูพลผัน ผู้แทนผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจสิงหนาท
6. นายสมบัติ ดุลยรัตน์ ผู้แทนนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดแม่ฮ่องสอน
7. นางจารุณี จันทร์เจนจบ ผู้แทนหน่วยงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
8. นายเอกวุฒ ชุมวรฐายี พาณิชย์จังหวัดแม่ฮ่องสอน
9. นางสาววริชญา ชะอุ่ม ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดแม่ฮ่องสอน
10. นางสาวณัฏธ์นลี นิลไพบูลย์ ผู้แทนหน่วยงานแรงงานจังหวัดแม่ฮ่องสอน
11. นายภูรีภัทร พิพัฒน์พงศธร ปลัดอาวุโสอำเภอปาย ผู้แทนนายอำเภอปาย
12. พ.ต.อ.สำเร็จ สามสีทอง ผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรปาย
13. ร.ต.อ.วิทยา มีศรี ผู้บังคับกองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 336
14. พ.ต.ท.วิชัย ปันนา สารวัตรตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดแม่ฮ่องสอน
16. นางบรรจงจิต จันทร์นวล ผู้แทนผู้อำนวยการโรงพยาบาลปาย
17. ว่าที่ ร.ต. ภาณุวัฒน์ ขัดนาค ผู้อำนวยการสำนักงาน ททท. สำนักงานแม่ฮ่องสอน
18. นายสุระศิลป์ เนตรผาบ ขนส่งจังหวัดแม่ฮ่องสอน
19. นางอัญชลี ใจแปง นักวิเคราะห์นโยบายและแผน ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน
20. นางชลนที ศรีมูล พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ
21. นางสาววราพร กลางถิ่น นักวิเคราะห์นโยบายและแผน สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดแม่ฮ่องสอน
22. นางสาวธนพร หมุดดี เจ้าหน้าที่ประสานงานช่วยเหลือนักท่องเที่ยว TAC
ซึ่งในที่ประชุมสรุปว่ามีประเด็นปัญหาใหญ่ ๆ มีจำนวน 5 เรื่อง ได้แก่
1.) การเช่ารถ การขับขี่ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร รวมทั้งพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น ถอดเสื้อ จอดรถคุยกันบนถนน ฝ่าฝืนสัญญาณไฟ ไม่สวมใส่หมวกนิรภัย ซึ่งพบว่าเกิดอุบัติเหตุ มากกว่า 300 ครั้ง ประเด็นดังกล่าวพบว่ากฎหมายบางเรื่องยังไม่ข้อมูลจำเพาะ ต้องใช้กฎหมายอื่นเทียบเคียง รวมทั้งนักท่องเที่ยวบางส่วนก็มีพฤติกรรมดังกล่าว ซึ่งที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้มีการกวดขัน ตรวจตรา ดำเนินคดี รวมทั้งให้ความรู้กับผู้ประกอบการถึงแนวทางการปฏิบัติ แนวทางการคัดเลือกลูกค้า ให้เป็นไปตามเกณฑ์ เช่นต้องมีใบอนุญาตขับขี่ และมีทักษะการขับขี่รถได้ดี ซึ่งในที่ประชุมได้มอบหมายให้ทางขนส่งจังหวัด ร่วมทั้งหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมาย กำหนดมาตรการรวมทั้งการบังคับใช้กฎหมาย โดยใช้มาตรการที่เหมาะสมตามแนวทางเบาไปหาหนัก เพื่อไม่ให้กระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และให้เกิดความปลอดภัยกับผู้ใช้รถใช้ถนน
2.) การเข้ามาทำงานหรือแย่งอาชีพคนไทย จากการติดตามของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ยังไม่พบว่ามีการเข้ามาทำงานในลักษณะการแย่งอาชีพของคนไทย สำหรับข้อมูลการจดทะเบียนพาณิชย์พบว่าเป็นไปตามกฎระเบียบข้อบังคับของกฎหมาย และยังไม่พบว่ามีคนชาติชาติถือหุ้นหรือดำเนินกิจการมากกว่า 45 % ประกอบกับชาวต่างชาติไม่มีสิทธิ์จดทะเบียนพาณิชย์ได้ ซึ่งมีเพียงกาดเสาร์หรือกาดฝรั่ง (ตลาดนักท่องเที่ยว) ที่เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ช่วงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด -19) เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของพื้นที่โดยมีชาวต่างชาติที่พักอาศัยในพื้นที่ออกมาทำกิจกรรม และมีตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนสิ่งของ กรณีนี้ ได้มีการห้ามชาวต่างชาติจำหน่ายสิ่งของ ตั้งแต่ 1 มีนาคม 2568 โดยเด็ดขาด สำหรับอาชีพอื่น ๆ เช่น การเล่นดนตรี ไม่มีการจ้างชาวต่างชาติมาเล่นดนตรี พบว่ามีเพียงการขึ้นมาร่วมแสดงความสามารถเป็นบางครั้งและไม่ได้รับค่าจ้าง โดยในที่ประชุมได้มีมติให้หน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงแรงงาน และหน่วยงานด้านความมั่นคง สำนักงานพาณิชย์จังหวัด หมั่นตรวจสอบ และให้ความรู้ด้านกฎหมายกับผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนสังเกตการณ์ในด้านอาชีพอื่น ๆ ด้วย
3.) การสูบกัญา เป็นประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ นิยมเสพกัญชาในลักษณะการสูบแบบบุรี่แบบไม่เลือกสถานที่ สร้างความเดือดร้อนรำคาญ และอาจส่งผลต่อสุขภาพของคนทั่วไป โดยพบว่าในพื้นที่อำเภอปายมีการขอใบอนุญาตจำหน่ายกว่า 90 แห่ง ในที่ประชุมได้มอบหมายให้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ได้มีการตรวจตรา เฝ้าระวัง รวมทั้ง ให้ความรู้ด้านต่างๆ แก่ผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยว สร้างความตระหนักและรับผิดชอบต่อสังคม และโทษของการเสพสิ่งมึนเมาต่าง ๆ
4.) การประพฤติตนไม่เหมาะสมในกิจกรรมการล่องห่วงยาง เช่น ดื่มแอลกอฮอล์ การแต่งกายไม่มิดชิดหลังเสร็จสิ้นกิจกรรมทางน้ำ การจัดปาร์ตี้ส่งเสียงดังระหว่างทำกิจกรรมล่องห่วงยาง ซึ่งกิจกรรมล่องห่วงยางแม่น้ำปายมีมานานแล้ว แต่เพิ่งจะเป็นกระแสโด่งดังตั้งแต่ ททท. โปรโมท ร่วมกับกิจกรรมข้าวเหนียวมะม่วง เมื่อปี 2565 และได้มีการประชุมหน่วยงาน ผู้เกี่ยวข้อง และผู้ประกอบการกำหนดข้อตกลงร่วมกัน เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 ณ สถานีตำรวจท่องเที่ยวแม่ฮ่องสอน (อ.ปาย) ดังนี้ 1.) ผู้ประกอบการต้องมีใบอนุญาตประกอบการนำเที่ยว จากสำนักงานทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 2.) ผู้ประกอบการจะมีการลงทะเบียนไว้ที่สถานีตำรวจท่องเที่ยวแม่ฮ่องสอน 3.) ผู้ประกอบการต้องควบคุมไม่ไหม้มีการจำหน่ายจ่ายแจกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 4.) ผู้ประกอบการต้องจัดเจ้าหน้าที่ดูแลนักท่องเที่ยวอย่างน้อย 12 ต่อ 1 คน 5.) ผู้ประกอบการต้องมีเสื้อชูชีพหรืออุปกรณ์ชูชีพให้เพียงพอ หากพบว่ามีกระแสน้ำไหลรุนแรง (ในฤดูน้ำหลาก) ให้งดการทำกิจกรรม 6.) ผู้ประกอบการต้องดูแลให้นักท่องเที่ยวแต่งกายมิดชิดรัดกุมหลังเสร็จสิ้นกิจกรรม หรือเมื่ออยู่ในที่ชุมชนที่ไม่สถานที่จัดกิจกรรมล่องหาวงยาง 7.) ผู้ประกอบการต้องดูแลไม่ให้มีการทิ้งขยะ หรือของเสียต่าง ๆ ลงในลำน้ำหรือข้างทาง 8.) ต้องไม่จัดกิจกรรมเสียงดังรบกวนผู้อื่น โดยเฉพาะช่วงที่พักทำกิจกรรมระหว่างการล่องห่วงยาง เช่น กีฬา ปาร์ตี้ หากอยู่ใกล้วัด โรงเรียน ต้องไม่เปิดเครื่องเสียงรบกวน ที่ประชุมได้มอบหมายให้ ททท. พร้อมทีมแม่ฮ่องสอนท่องเที่ยวพลัส และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการกำกับติดตามบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตามข้อตกลงอย่างต่อเนื่อง
5.) การเปิดเพลงเสียงดังของสถานประกอบการ พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ปฏิบัติตามกติกา และปิดบริการตามเวลา แต่อาจจะมีบางผู้ประกอบการที่เปิดเสียงดัง โดยเฉพาะในช่วงที่มีการจัดกิจกรรมพิเศษ หรืองาน Event โดยในที่ประชุมได้มอบหมายให้ที่ทำการปกครองอำเภอ ตรวจสอบ และบังคับใช้กฎหมายทั้ง 5 ประเด็นผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้สั่งการให้หน่วยงานและผู้ที่ได้รับมอบหมายดำเนินการ และติดตามสถานการณ์ประสานการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน จะมีการติดตามเป็นระยะ ...
สำหรับกรณีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ที่ก่อเหตุวุ่นวายกระทบการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่อำเภอปาย นั้น ทางหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายได้ร่วมกันจับกุมดำเนินคดี ปรับ และขอเพิกถอนวีซ่า และส่งกลับประเทศ ตามที่เป็นข่าวไปก่อนแล้ว โดยทางผู้แทนโรงพยาบาลปายได้กล่าวขออภัยที่มีบุคลากรโพสต์ข้อความที่อาจทำให้หน่วยงานต่างๆ อาจได้รับผลกระทบ ซึ่งเกิดจากการที่เพจหนึ่งได้นำข้อความจาก Comment ไปลงเพจ อย่างไรก็ตามบุคลากรทางการแพทย์ก็ยังยึดหลักคุณธรรมในการรักษาผู้ป่วยทุกคนอย่างเท่าเทียม ซึ่งในกรณีนี้ทางหน่วยงานด้านการต่างประเทศของนักท่องเที่ยวได้มีการกล่าวขอโทษและแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมายังโรงพยาบาลและในพื้นที่แล้ว
นอกจากนี้ ทางจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้กำหนดมาตรการสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่นักท่องเที่ยว โดยทาง ททท. จะจัดประชุมสร้างความเข้าใจ รวมทั้งจะทำข้อมูล Do and Don’t เผยแพร่สู่กลุ่มนักท่องเที่ยวต่อไป...
(ภาพและข่าว สามารถนำไปเผยแพร่โดยไม่ติดลิขสิทธิ์)
ข่าว - ว่าที่ ร.ต. ภาณุวัฒน์ ขัดนาค ผอ.ททท.สำนักงานแม่ฮ่องสอน
ภาพ - นางสาวธนพร หมุดดี เจ้าหน้าที่ประสานงานช่วยเหลือนักท่องเที่ยว TAC
นายจตุรภณ พัฒนาชาติเจริญกุล พนักงานสนับสนุนด้านความปลอดภัย สนง.ขนส่งจังหวัดแม่ฮ่องสอน.
__________________________
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น